การเขียนนิยาย VS การเขียนบทละคร ข่าวน่ารู้ อัพเดทสถานการณ์ เรื่องเล่า สาระความรู้ คู่ความบันเทิง
Category

การเขียนนิยาย VS การเขียนบทละคร

            ในปัจจุบันมีนักเขียนนิยายชั้นครูหลายคนที่หันเหมารับงานเขียนบทละครโทรทัศน์ด้วยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักเขียนรุ่นใหม่หลายคนอยากที่จะเขียนบทละครให้ค่ายละครดัง ๆ เหมือนกัน คงไม่มีอะไรที่ยากเพราะการเขียนนิยายกับการเขียนบทละครก็เหมือน ๆ กันน่ะละ บางทีการเขียนบทละครอาจจะง่ายกว่าการเขียนนิยายด้วยซ้ำ เพราะมีเรื่องราวจากนิยายมาอยู่แล้ว เราก็แค่ย่อให้ไปอยู่ในรูปแบบละครเท่านั้น ใคร ๆ ต่างก็พูด แต่ในความเป็นจริงแล้วการเขียนนิยายกับการเขียนบทละครนั้นมีความยากไม่แพ้กันเลยค่ะ

การเขียนนิยาย

            การเขียนนิยาย เป็นการสร้างสรรค์ผลงานในมุมมองที่แปลกใหม่จากจินตนาการของเราซึ่งไม่มีใครที่จะเหมือนกับนักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราวได้ โดยการเขียนนิยายต้องมีการวางโครงเรื่อง พล็อต การดำเนินเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างเห็นภาพชัดเจนเสียก่อนว่าแต่ละตอน คุณนักเขียนจะให้เกิดเหตุการณ์อะไร ดำเนินไปสู่จุดไหน ให้นักอ่านมองเห็นอารมณ์และสถานการณ์เบื้องหน้าไปจนถึงเบื้องหลังแบบใด แล้วจึงค่อยพิมพ์ต้นฉบับลงไปได้ ซึ่งการพิมพ์ต้นฉบับตามพล็อตการดำเนินเรื่องที่วางไว้ก็ใช่ว่าจะง่าย ๆ คุณต้องมีการคิดคำบรรยายที่จะสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ ใช้ภาษาสละสลวยเป็นเอกลักษณ์ของนามปากกาเอง และตัวละครควรมีบทสนทนาอย่างไร การดำเนินเรื่องในฉากหรือตอนนั้น ๆ จึงจะมีความสมบูรณ์ตามพล็อต

การเขียนบทละคร

            การเขียนบทละคร เป็นการเขียนบทที่ใช้สร้างเป็นละครโดยอาจเป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมาเองหรืออาจนำเรื่องราวจากนิยายที่มีอยู่ก่อนแล้วมาดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับการนำไปสร้างเป็นละครซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ละครมีความแตกต่างจากนิยายทั้งการดำเนินเรื่องที่ต้องมีการรวบรัดให้สั้นกว่าเพื่อความเหมาะสมในเวลาที่กำหนด ฉากที่แสดงถึงอารมณ์และบุคลิกนิสัยความเป็นตัวละครต่าง ๆ ว่ามีความโดดเด่นในทิศทางใด และบทสนทนาใดที่สำคัญในนิยายซึ่งต้องนำมาไว้ในบทละคร

“เรื่องเวลา” จึงมีความสำคัญที่สุดในการเขียนบทละคร เพราะการเขียนให้แต่ละตอนมีฉาก มุมมองใด และบทสนทนาที่เหมาะกับสถานการณ์ ทุกอย่างย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาฉายที่เหมาะสม อีกทั้งจะเขียนบทละครตัดจบแต่ละตอนอย่างไรให้คนดูได้อรรถรสตามแบบค้าง ๆ จนอยากดูตอนต่อไปอีก ฉะนั้นฉากใดในนิยายที่ไม่มีความสำคัญมาก คนดูจึงไม่ได้พบเห็นเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นละครไงคะ

เห็นหรือไม่ว่าการเขียนนิยายกับการเขียนบทละครมีความยากที่ไม่แพ้กัน ไม่ใช่ว่านักเขียนนายอยากเข้ามารับจ็อบทำงานเขียนบทละครก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย คุณควรได้รับการเข้าอบรมโครงการเขียนบทละครเพื่อให้รู้ลึกก่อนที่จะตัดสินใจนะคะ เพราะมันมีจุดที่แตกต่างกันมากจริง ๆ

รูปภาพประกอบ : Pixabay

#การเขียนนิยาย #การเขียนบทละคร #สาระน่ารู้