สุภาษิตที่ล้าสมัยแต่คู่ควรที่จะจำ ข่าวน่ารู้ อัพเดทสถานการณ์ เรื่องเล่า สาระความรู้ คู่ความบันเทิง
Category

สุภาษิตที่ล้าสมัยแต่คู่ควรที่จะจำ

            แม้สุภาษิตไทยจะยังมีความสำคัญในการให้คำสอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้คนอยู่มาก แต่ด้วยยุคสมัยและการใช้ชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไปทำให้บางสุภาษิตเริ่มมีความล้าหลังและสวนทางกับผู้คนในสมัยนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรในส่วนเล็ก ๆ ของสุภาษิตเหล่านั้นก็ยังคงสอนเราให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ควรประมาทหรือกระทำในทางที่ผิดได้อยู่ดี วันนี้เราจึงได้ยกสุภาษิตที่มีความล้าสมัยแล้วแต่ยังคงคู่ควรกับการจำไว้เสมอมาให้ทุกคนได้รู้กัน

สุภาษิต “ตักบาตรอย่าถามพระ”

            สุภาษิต “ตักบาตรอย่าถามพระ” หมายถึง การที่เราจะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้วย่อมไม่ควรถามอีกฝ่ายว่าอยากได้อะไร ในสมัยก่อนคนไทยให้ความสำคัญกับมารยาทมาเป็นอันดับแรกไม่ว่าคุณจะให้ของขวัญกับเพื่อนหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า – ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ทุกคนย่อมยินดีที่จะรับของที่คุณให้เพราะเป็นน้ำใจ

แต่ในสมัยนี้หากคุณให้ของขวัญโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งของที่ผู้รับไม่ชอบ เขาก็จะสามารถว่าคุณได้ ยิ่งเป็นคนที่รู้จักกันดี เขาย่อมต้องบ่นและมองว่าคุณไม่มีความใส่ใจในตัวเขาเลย อยู่ใกล้ชิดกันเหตุใดจึงไม่รู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร

ซึ่งกรณีนี้จะเกิดในคนรุ่นเดียวกันหรือเด็กที่ให้ของผู้ใหญ่ ทำให้สุภาษิตนี้มีความล้าหลังในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้ได้กับผู้อาวุโสด้วยกัน เพราะคนวัยนี้จะมองถึงมารยาทและไม่ได้ใส่ใจกับความผิดพลาดของผู้ให้เท่าไหร่นัก

สุภาษิต “ทำนาอ้อมกล้า ทำปลาอ้อมเกลือ”

            สุภาษิต “ทำนาอ้อมกล้า ทำปลาอ้อมเกลือ” หมายถึง การที่เราจะทําการสิ่งใดถ้ากลัวหมดเปลืองก็ย่อมไม่ได้ผลสมบูรณ์ หากเป็นเมื่อก่อนก็อาจใช้ได้ในการทำงานหรือลงทุนต่าง ๆ

แต่สมัยนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยแตกต่างจากเมื่อก่อนมาก การที่เราจะทำการหรือลงทุนใด ๆ ย่อมต้องดูก่อนว่าผลลัพธ์ที่ได้มาหากลงทุนเยอะจะคุ้มหรือไม่ ยิ่งกับการขายของสำหรับมือใหม่หากคุณคิดแต่จะลงทุนกับมันเยอะไว้ก่อนโดยไม่ดูสถานการณ์

การเป็นที่รู้จัก หรือค่านิยมของคนในช่วงนั้นก่อน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาย่อมไม่สมบูรณ์แน่นอน แถมยังสิ้นเปลืองวัตถุดิบด้วย แต่กับงานบางอย่างที่ต้องอาศัยคุณภาพงาน ไม่เกี่ยวกับปริมาณเหมือนการขายของ สุภาษิตนี้ก็ยังสามารถใช้ได้ คือ ใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ดี ๆ เพื่อสร้างสรรค์งานออกมามีประสิทธิภาพ

สุภาษิต “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง”

            สุภาษิต “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” หมายถึง การคัดค้านผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะสูงกว่า หรือผู้มีอำนาจมากกว่าย่อมไม่สำเร็จ และอาจได้รับผลร้ายแก่ตัวอีกด้วย อย่างที่บอกว่าในสมัยก่อนมารยาทเป็นสิ่งที่สำคัญมากและคนไทยก็ถือกันว่าผู้ใหญ่เป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าเด็กหรือผู้น้อยจึงไม่มีสิทธิ์จะไปคัดค้านหรือโต้เถียงได้ เพราะไม่มีใครจะฟังคุณหรอก แต่ในสมัยนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาทำให้คนทุกวัยทุกองค์กรมีความรู้ที่กว้างขวาง สามารถค้นคว้าด้วยตัวเอง ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเรียนรู้ส่งผลให้ไม่ถูกชักจูงในทางที่ผิดและหลงเชื่อต่อหลาย ๆ อย่างง่ายเหมือนเมื่อก่อน จนบางอย่างเด็กก็สามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ในมุมที่ผู้ใหญ่อาจมองข้ามไปฉะนั้นสุภาษิตนี้จึงถือว่าล้าสมัยแล้ว แต่ก็ยังพอใช้ได้กับบางสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า

รูปภาพประกอบ : Pixabay

#สุภาษิตไทยน่ารู้ #สุภาษิตล้าสมัยที่ใช้ได้เสมอ #คำคมคนโบราณ