เหตุผลที่คนไทยใช้ “คะ” กับ “ค่ะ” ผิด! ข่าวน่ารู้ อัพเดทสถานการณ์ เรื่องเล่า สาระความรู้ คู่ความบันเทิง
Category

เหตุผลที่คนไทยใช้ “คะ” กับ “ค่ะ” ผิด!

            สวัสดีค่ะทุกคน สังเกตหรือไม่ว่าสมัยนี้เวลาที่คุณแชทส่งข้อความ โพสต์ข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นต่อเพื่อนก็มักจะเจอข้อความที่ลงท้ายประโยคด้วย “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” ซึ่งมันคงจะไม่แปลกหากพวกเขาใช้กันถูกต้องตามรูปประโยคและยังแสดงถึงมารยาทการใช้ที่ดีด้วย แต่เมื่อเห็นใช้ผิดแล้วก็อดที่จะรู้สึกถึงความไม่ค่อยสนใจโลกในตัวเจ้าของข้อความเท่าไหร่ ทุกคนมักจะมองไม่ในแง่ลบว่าง่าย ๆ แค่นี้ทำไมจึงใช้ไม่ถูก แต่ความจริงแล้วมันมีเหตุผล 2 ข้อที่บางคนอาจมองข้ามไปดังนี้

การพิมพ์ “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” เร็วเกินไปจนผิด

            หลายคนน่าจะเคยเป็นกับการที่เวลาเราเขียนหรือพิมพ์อะไรแบบเร็วมาก ๆ จนมือขวิดเวลาเร่งรีบก็มักจะทำให้คำที่พิมพ์ตกหล่นหรือใช้ผิด โดยเฉพาะ “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” เพราะในหัวสมองเราเวลารีบจะทำให้การประมวลผลคำที่มีความคล้ายกันถูกรวบเป็นคำเดียวกันหรือใช้ด้วยความเคยชินในการพิมพ์จนลืมมองรูปประโยคไป พอรู้ตัวอีกทีก็ไม่ทันแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่ามันผิดหรอกค่ะ

ตัวแสดงข้อความอัตโนมัติขึ้น “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” จนผิด

            เวลาที่เราเข้าโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ,IG และทวิตเตอร์ ส่วนใหญ่หลายคนก็น่าจะใช้โทรศัพท์มือถือในการพิมพ์ เพราะเปิดง่ายเพียงแตะนิ้วครั้งเดียว ไม่ต้องเข้าสู่ระบบใหม่เหมือนคอมพิวเตอร์ แถมยังเป็นอุปกรณ์ติดตัวตลอดเวลาด้วย แต่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้หากเราไม่ระวังให้ดี เพราะระบบคีย์บอร์ดของโทรศัพท์มือถือรุ่นปัจจุบันมักจะมีการขึ้นระบบคำอัตโนมัติขณะที่นิ้วของเรากำลังพิมพ์เพื่อช่วยลดระยะเวลาให้พิมพ์เร็วขึ้น ซึ่งหากคุณไม่ได้ตรวจสอบคำให้ดีก่อนขึ้นคำใหม่ คำนั้นก็อาจเปลี่ยนเป็นอีกคำที่ใกล้เคียงกันได้ในภายหลังจนน่าโมโห เช่น ส่งงานให้แล้วน่ะคะ เป็นต้น

เทรนด์การใช้ “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” ผิดกำลังมาแรง

            เมื่อการใช้คำ “คะ” “นะค่ะ” หรือ “ค่ะ” ผิดมากขึ้นและคนที่พิมพ์ข้อความก็ไม่กลับมาแก้ไขให้ดีจึงทำให้วัยรุ่นหลายคนมองว่าดูเก๋ไก๋ดีจนฮิตนำไปใช้ในการสื่อสารกันจนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลจนกู่ไม่กลับไปเสียแล้ว กลายเป็นว่าหากใครที่ใช้คำถูกต้องก็จะถูกมองจากเพื่อนรุ่นเดียวกันว่าเป็นคนเชยและไม่มีอารมณ์ขันซะอย่างนั้น บางคนยิ่งใช้ผิดก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำเทรนด์จนได้ใจเข้าไปใหญ่ เช่น จากแค่เริ่มต้นใช้ “นะค่ะ” ตอนนี้กลายเป็น “นะค๊ะ” ไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งพวกเขาคงไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำให้ผู้ที่เผลอพิมพ์ผิดด้วยความเร่งรีบหลายคนกลายเป็นถูกคนในสังคมตำหนิมากมายเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

รูปภาพประกอบ : Pixabay

#“คะ” กับ “ค่ะ” #ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง #สาระน่ารู้