หน้าที่ของนักพิสูจน์อักษร ข่าวน่ารู้ อัพเดทสถานการณ์ เรื่องเล่า สาระความรู้ คู่ความบันเทิง
Category

หน้าที่ของนักพิสูจน์อักษร

            หลาย ๆ คนอาจจะมีความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักพิสูจน์อักษรซึ่งฟังจากชื่อแล้วดูเหมือนจะไม่ค่อยได้มีหน้าที่อะไรมากมาย ก็แค่นั่งตรวจเอกสารว่าส่วนนี้ถูกหรือไม่ แล้วควรแก้ตรงจุดใดเท่านั้น ไม่ต้องลงมือคิดสร้างสรรค์หรือลงมือสร้างผลงานจนหนักหน่วงเหมือนอาชีพอื่น ๆ หรือพวกนักเขียน แต่ในความเป็นจริงแล้วมุมมองหน้าที่ของนักพิสูจน์อักษรที่คุณเห็นว่าเอาแต่นั่งตรวจสอบเอกสารหรือต้นฉบับนั้น ๆ มันเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิและความละเอียดสูงทีเดียว ซึ่งหากไม่มีประสบการณ์ก็ย่อมทำได้ยาก หากอยากรู้ว่างานของนักพิสูจน์อักษรต้องใช้ความพยายามและทักษะมากขนาดใด แล้วคุณยังอยากจะเป็นอยู่อีกหรือไม่ วันนี้เราจะอธิบายแบบเจาะลึกกันเลย

นักพิสูจน์อักษรมีหน้าที่ขัดเกลาสำนวนและคำ

            นักพิสูจน์อักษรมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้คำที่ถูกต้อง เหมาะสมกับบริบทของการบรรยาย รูปแบบของเอกสารหรือต้นฉบับ ไปจนถึงการใช้สำนวนที่ต้องมีความสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการบอกเล่าเพื่อให้การใช้คำของนักเขียนไม่มีความขัดแย้งหรือมีการใช้ที่ผิดเมื่อมาอยู่ในประโยคนั้น ๆ เช่น หากนักเขียนพิมพ์เอกสารว่า “การที่ได้มีโอกาสมาเรียนในโรงเรียนที่มีประวัติด้านการปลูกฝังมารยาทชั้นนำของเมืองไทยแล้วทำให้เขารู้สึกตื่นตระหนกอย่างบอกไม่ถูก” ซึ่งนักพิสูจน์อักษรจะเห็นแล้วว่า “ตื่นตระหนก” หมายถึง “ตกใจกลัว” ซึ่งไม่เหมาะจะใช้กับความรู้สึกยินดีที่ได้มาโรงเรียนเลย จึงควรเปลี่ยนเป็น “การที่ได้มีโอกาสมาเรียนในโรงเรียนที่มีประวัติด้านการปลูกฝังมารยาทชั้นนำของเมืองไทยแล้วทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก”แทน

นักพิสูจน์อักษรมีหน้าที่ตรวจสอบคำผิด

            นักพิสูจน์อักษรต้องมีการอ่านต้นฉบับและเอกสารมาเป็นอย่างดี ละเอียดถี่ถ้วนเพื่อตรวจสอบว่ามีการพิมพ์คำใดที่ผิดจากหลักไวยากรณ์หรือพจนานุกรมไปหรือพิมพ์ตกหล่นในประโยคหรือการบรรยายตรงไหน เว้นวรรคได้ถูกหรือไม่สำหรับการใช้คำนั้น ๆ หากเป็นคำที่ควรอยู่คู่กันแต่กลับถูกเคาะตกให้มาอยู่อีกบรรทัดก็เป็นการพิมพ์คำที่ผิดหลักแล้ว เช่น “เขาไม่คู่กับนิดาเลย” ประโยคนี้ตกหล่นคำนึงไป ซึ่งต้องพิมพ์ว่า “เขาไม่คู่ควรกับนิดาเลย” เพราะนักเขียนอาจรีบพิมพ์เร็วจนเผลอพิมพ์ไม่ครบคำได้เป็นเรื่องธรรมดา บางคนหน้านึงก็มีคำตกหล่นอยู่หลายคำด้วย แล้วลองคิดดูว่านักพิสูจน์อักษรต้องทำงานหนักแค่ไหนในการค่อย ๆ อ่านแบบผ่านและอ่านแบบเจาะจงหลายรอบใน 1 หน้ากว่าจะครบจำนวนหน้าเอกสารซึ่งบางงานก็มีมากถึงร้อยหน้าเลยทีเดียว

นักพิสูจน์อักษรมีหน้าที่ตรวจสอบคำศัพท์เฉพาะของนักเขียน

            ในเอกสารหรือต้นฉบับของนักเขียนย่อมจะมีคำที่เป็นศัพท์เฉพาะใช้ในแวดวงหรือเป็นคำศัพท์โบราณที่เลิกใช้กันไปแล้วซึ่งนักอ่านอาจไม่เข้าใจ นักพิสูจน์อักษรจึงมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้คำศัพท์เฉพาะและที่มาก่อนจะพิมพ์เชิงอรรถให้นักอ่านได้รู้ว่าความหมายและการใช้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการอ่าน

รูปภาพประกอบ : Pixabay

#นักพิสูจน์อักษร #พิสูจน์อักษร #อาชีพน่าสนใจ