การเมืองไทยสมัยเผด็จการทหาร ข่าวน่ารู้ อัพเดทสถานการณ์ เรื่องเล่า สาระความรู้ คู่ความบันเทิง
Category

การเมืองไทยสมัยเผด็จการทหาร

ภายหลังการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และแต่งตั้งนายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้กล่าวว่า การตัดสินใจทางการเมืองโดยการยึดอำนาจในครั้งนี้มีสาเหตุจากมติคณะรัฐมนตรีที่ขอให้รัฐมนตรีทุกคนถอนตัวจากธุรกิจต่างๆ อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะเสนอกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวกันว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองโดยซีไอเอของสหรัฐอเมริกาที่พบว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามลอบส่งคนไปติดต่อกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ ซีไอเอจึงสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ให้ทำการรัฐประหาร รวมทั้งการที่พลตำรวจเอกเผ่า        ศรียานนท์กำลังจะจับจอมพลสฤษฎ์ในข้อหาวางแผนยึดอำนาจ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ชิงทำการยึดอำนาจเสียก่อนเพื่อป้องกันตนเอง

นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ 3 เดือนจึงลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองภายหลังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2501 จอมพลถนอม กิตติขจรขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จึงลาออกเพื่อให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำการปฏิวัติในวันเดียวกัน คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่แต่ยังคงระบบรัฐธรรมนูญไว้ และให้คณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รวมทั้งยกเลิกกฎหมายพรรคการเมืองเป็นผลให้พรรคการเมืองทุกพรรคสิ้นสุดลง

เป็นที่น่าพิจารณาว่าการเข้ามาบริหารประเทศโดยตรงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในครั้งนี้ไม่มีการต่อต้านจากประชาชน เพราะคนไทยมีความรู้สึกทางการเมืองในเวลานั้นคือไม่พอใจการเลือกตั้งที่สกปรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 และมีความรู้สึกว่าจอมพลสฤษดิ์ยืนอยู่ข้างประชาชน โดยได้ทำการยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลาสนับสนุน

แม้ว่ารัฐบาลของนายพจน์ สารสินและรัฐบาลของพลเอกถนอม กิตติขจร จะเป็นรัฐบาลเงาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่คนไทยก็ยอมรับได้เพราะถึงจะอย่างไรก็ทำให้การเมืองไทยใน”ยุคทมิฬ” และ ”รัฐตำรวจ” ของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ที่ครอบงำสังคมไทยมานานได้จบสิ้นลง

รัฐบาลเงาทั้งสองรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินไป ผู้ที่ถูกจับขังหรือถูกลงโทษด้วยข้อหากบฏทางการเมืองต่างก็ได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

รัฐบาลไทยในยุคเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีนโยบายต่างประเทศตามหลังสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและได้รับอิทธิพลทางการเมืองแบบขวาจัดจากสหรัฐอเมริกาจึงทำตนเป็นศัตรูกับจีนอย่างเปิดเผยเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษและทำให้บรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศในตอนนั้นค่อนข้างตรึงเครียด

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจทางการเมืองโดยปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 แล้ว ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารบ้านเมืองต่อมาเป็นเวลา 5 ปี จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรีได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ช่วงเวลา 5 ปีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น การเมืองและสังคมไทยเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิวัติและความเด็ดขาด การตัดสินในของนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียตามมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ดังคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

เครดิตภาพ มติชนสุดสัปดาห์, ไทยโพสต์

#ยุคจอมพลสฤษดิ์ #การเมืองในมือทหาร #การเมืองไทยในอดีต